หนูอยากให้พ่อแม่รับฟัง
.
.
ถ้าถามว่าคุณพ่อคุณแม่รับฟังลูกไหมคะ เราก็ฟังลูกอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าฟังแบบไหน อันนี้น่าจะเรื่มตอบแตกต่างกันแล้ว
.
ภาษาอังกฤษคำว่า hear กับ listen นี่แตกต่างกันนะคะ
hear เป็นการได้ยิน เราได้ยินเสียงต่าง ๆ รอบตัว ใส่ใจบ้างไม่ใส่ใจบ้าง บางทีได้ยินเสียงคนพูดแต่ไม่รู้เลยว่าเค้าพูดเรื่องอะไร
listen คือการฟัง จะอยู่ในระดับที่เราตั้งใจมากกว่า เราจะรับรู้ว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไร
.
หลายคนฟังจับประเด็นได้ดี เวลาคนพูดมาเราสามารถสรุปความและยังถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้อีกด้วย
.
แต่การฟังแบบไหนที่ลูกอยากให้เราฟังเค้า ปกติได้มีเวลาพูดคุยกับลูกบ้างไหมคะ ได้ฟังเค้าเล่าเรื่องราวของเค้าบ้างไหม หรืออีกคำถามคือ ลูกมาเล่าอะไรให้เราฟังบ่อยไหม
.
เด็กวัยอนุบาลเป็นช่วงที่เค้าเริ่มออกไปเจอสังคมอื่นนอกบ้าน เจอครูและเพื่อน แต่สำหรับเค้าพ่อแม่ก็ยังเป็นโลกทั้งใบอยู่ เค้าอยากใช้เวลากับพ่อแม่ อยากเล่นด้วย อยากเล่าสิ่งที่ไปเจอมาให้เราฟัง
.
ช่วงประถมเค้าก็ยังอยากเล่น อยากเล่า อยากใช้เวลากับพ่อแม่นะคะ ลูกวัยประถมยังมาเล่าเรื่องให้เราฟังเหมือนตอนอนุบาลไหมคะ ถ้าเค้ามาเล่าน้อยลง อยากชวนถามว่า ตอนที่เค้ามาเล่าให้เราฟัง เราฟังเค้าแบบไหนคะ ฟังแบบตั้งใจฟัง สบตา รับรู้ไปถึงสิ่งที่เค้าไม่ได้เล่าเช่น อารมณ์ ความรู้สึกไหมคะ แสดงให้เค้าเห็นว่าเราตั้งใจฟัง หรือเราฟังไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย
.
ถ้าเราตั้งใจฟังเค้ามาตลอด เค้าก็อยากจะมาเล่าให้เราฟังค่ะ ยิ่งโตแล้วช่วงประถมปลายวัย pre-teen ลูกจะเริ่มมีโลกของเค้า มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะแตกต่างจากเหตุผลของเรา เราให้โอกาสเค้าได้เล่าเหตุผลของเค้าหรือเปล่า แล้วเรารับฟังจริง ๆ หรือว่า เหตุผลของเค้าไม่เคยถูกเลยในสายตาเรา
.
ลูกต่ายก็อยู่ในช่วง pre-teen สำหรับต่ายเป็นช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ในการที่จะรับฟังเค้าอย่างตั้งใจและให้เค้ารับรู้ว่าเรารับฟัง ช่วงวัยรุ่นถึงแม้เราจะอยากรู้เรื่องของลูก ถ้าเค้าไม่อยากเล่า เค้าก็จะไม่เล่า
.
เราสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ที่ลูกจะกลับมาได้เสมอ ที่ที่มีคนรักและห่วงเค้าอย่างจริงใจ ที่บ้านเราบรรยากาศเป็นแบบนี้หรือเปล่า หรือว่าบ้านเป็นที่ที่เค้าไม่อยากกลับ ไม่มีใครรับฟังเค้า เค้าก็คงอยากจะไปเล่าให้คนอื่นนอกบ้านที่รับฟังเค้า
.
เราอยากให้บ้านเป็นแบบไหน คุณพ่อคุณแม่สร้างบรรยากาศแบบนั้นได้นะคะ
Comments