อยากบันทึกครั้งหนึ่งที่ต่ายตัดสินใจว่าจะเล่น accom (เป็น accompanist นักดนตรีประกอบ) ให้ลูกเองสำหรับงานแข่งไวโอลินที่กำลังจะมาถึง
.
ต้องเล่าก่อนว่าการแข่งไวโอลิน คนเล่นไวโอลินต้องมีนักดนตรีเล่นประกอบซึ่งก็คือนักเปียโน โดยจะเล่นสด หรือเปิด backing track ก็ได้ ให้นึกถึงอารมณ์เวลาแข่งร้องเพลงค่ะ นักร้องก็จะไม่ร้องเพลงคนเดียว จะมีดนตรีประกอบเป็นวง หรือเครื่องเดียวหรือเปิด backing track ค่ะ
.
ด้วยเหตุผลบางประการปีนี้จึงไม่ได้ให้คุณครูที่เล่น accom ประจำ studio เล่น accom ให้ลูก และตัดสินใจว่าจะเล่น accom ให้ลูกเอง หลังจากลองซ้อมโน้ตดูละ เพลงไม่ยากมาก ถ้าซ้อมเยอะ ๆ น่าจะเล่นได้ ก็ลองซ้อมๆๆๆ ดูค่ะ
.
พอเล่นพอได้ก็ชวนลูกมาค่ะ มาเล่นพร้อมกัน ลูกสาวสติดีมาก เคยเล่นกับ accom แล้วหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่เพลงนี้ เค้าก็รู้ว่าเล่นไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะ (คือเปิด metronome) ผิดก็ไม่ต้องกลับมาแก้ เน้นไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะ เค้าก็เล่นได้จนจบ ส่วนต่ายใช้คำว่าตะครุบโน้ตเลยค่ะ ทันมั่งไม่ทันมั่ง ที่รู้สึกว่ายากที่สุดคงเป็นหูเราไม่ชินกับการเล่น accom เลยไม่รู้จะฟังเสียงเปียโนที่ตัวเองเล่น หรือเสียงไวโอลินที่ลูกเล่นดี
.
ตอนฝึกคนเดียวก็จะได้ยินแต่เสียงเปียโน เล่นได้สบายมากไม่มีปัญหา พอมีเสียงไวโอลินลูกมาก มีบางท่อนที่ melody ไม่เหมือนกัน อันนี้งงเองเลยค่ะ รอบแรก ๆ ลูกก็อาจจะมีหลุดบ้าง แต่พอซ้อมหลายครั้งเค้าจะรู้แล้วว่าตรงนี้เสียง accom จะเป็นแบบนี้ ลูกสามารถบอกได้เลยว่าแม่เล่นผิดตรงนี้
.
เราก็เลยมีการแยกกันซ้อมบ้างคือลูกก็ไปซ้อมกับ accom ที่หามาจาก YouTube แม่ก็ไปซ้อมกับเสียงไวโอลินใน YouTube เหมือนกัน แต่เราก็จะมาเล่นรวมกันทุกวัน
.
หลายคนอาจจะสงสัยว่าการเล่น accom มันต่างกับการเล่นในวงยังไง ต่ายเองที่เคยเล่นในวงโยธวาทิต ซึ่งก็มีเสียงที่ต่างกันจากหลายเครื่องทำไมไม่งง ต่ายว่าเวลาเล่นในวงเราไม่ได้เป็นเครื่องเดียว เช่น ต่ายเล่น trumpet ก็จะมีคนเล่น trumpet มากกว่า 1 คน ซึ่งนั่งใกล้ ๆ เรา เราจะได้ยินเสียง trumpet เพื่อนดังกว่าเครื่องอื่นอยู่แล้ว มันก็เลยไม่งง หรือแม้ว่า trumpet 2 ตัวจะเล่นคนละโน้ตกัน แต่มันก็ยังเป็นเสียง trumpet เหมือนกันอยู่ดี
.
สำหรับต่ายการเล่น accom ให้ลูกจึงเป็นเรื่องท้าทายเรื่องใหม่ที่ตอนนี้ก็กำลังซ้อมๆๆๆ อย่างหนัก กลัวทำลูกพังบนเวที คนที่เล่น accom เก่ง ๆ นี่เค้าจะช่วยโอบอุ้มคนเล่นไวโอลินไปด้วยกัน เวลาไวโอลินผิด เค้าจะหาทางช่วยให้เรากลับมาเล่นต่อได้ งานนี้หวังว่าจะไม่ได้กลับกันลูกต้องคอยแม่เล่นด้วย ต่ายก็มองว่าเป็น bonding เป็นการทำงานเป็นทีมร่วมกัน ทั้งต่ายและลูกก็ต้องสังเกตซึ่งกันและกัน และเล่นไปด้วยกันให้ผิดพลาดน้อยที่สุดจนจบเพลงค่ะ
Comments