ต่ายพาลูกไปเข้าคลาส performance เพื่อเตรียมการแข่งมาค่ะ ทำให้รู้ว่าการเตรียมการแข่งมีรายละเอียดมากกกกกกก มากกว่าแค่เล่นเพลงให้ดีมากมาย
.
คลาสนี้คุณครูชวนลูกศิษย์และผู้ปกครองทุกคนมาพร้อมกัน จุดประสงค์แรกเพื่อให้เด็กเล่นต่อหน้าคนดู (มากกว่าพ่อแม่พี่น้องเวลาซ้อมในบ้าน) เพื่อให้ซ้อมตื่นเต้นจริงก่อนวันแข่งจริง มีคนดูดูจริง ๆ ปรบมือให้จริง ๆ
.
จุดประสงค์ต่อมาคือซ้อม performance คำว่า performance นี่เริ่มตั้งแต่การยืนรอ การก้าวเท้าขึ้นเวทีไปจนกระทั่งเราลงจากเวทีแล้วคนดู (และกรรมการ) ไม่เห็นเราแล้ว อย่างที่บอกนะคะ ไม่ใช่แค่ช่วงที่เราเล่นบนเวที
.
เริ่มตั้งแต่เมื่อเรารู้ว่าจะเป็นคนต่อไปแล้วให้ลุกขึ้นยืนรอ เตรียมพร้อมร่างกาย ขยับแขนขา สำหรับพี่โต ๆ ที่เล่นเพลงยาก ๆ ช่วงนี้อาจมีการซ้อมในอากาศในท่อนที่ยาก ๆ คือลองใช้มือเล่นระหว่างรอ
.
เมื่อกรรมการเรียกชื่อให้เราขึ้นเวที เราก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินอะไรก็ได้นะคะ เราต้องเดินให้เข้ากับ mood ของเพลงที่เราจะเล่น ถ้าเราเล่นเพลงสนุกสนานแล้วก็เดินประมาณจังหวะเพลงที่เราจะเล่นเข้าไปอย่างสนุกสนาน ถ้าเพลงที่เล่นเป็นเพลงหนักแน่นเราก็เดินแบบหนักแน่นมั่นใจเข้าไป ถ้าเราเล่นเพลงหวาน ๆ romantic เราก็เดินแบบหวาน ๆ เข้าไป
.
เมื่อไปถึงจุดที่จะแสดงก็โค้งให้คนดู การโค้งก็ซ้อมโค้งด้วยนะคะ สำหรับเด็ก ๆ ใช้เทคนิคว่าการโค้งคือการก้มมองถุงเท้า แล้วนับ 1 – 2 – 3 แล้วค่อยเงยหน้าขึ้นมา ตอนโค้งเราจะไม่เหลือบตามองคนดูนะคะ โค้งก็ต้องโค้งให้สวย
.
จากนั้นจะเป็นการ set up ก่อนเริ่ม สำหรับนักเปียโนมีการปรับระยะ ปรับตำแหน่ง ปรับความสูงเก้าอี้ ลองวางเท้าเหยียบ pedal โอเคไหม นักไวโอลินเด็กโตจะจูนเครื่องกับเปียโน accom (accompanist – นักเปียโนที่เล่นประกอบ) ช่วงจูนเสียงนี้คุณครูบอกว่ากรรมการสามารถบอกได้เลยจะได้ยินเพลงแบบไหน คือ แค่ท่าการจูนเครื่องก็รู้แล้วว่าจะได้ฟังเพลงที่เพราะหรือไม่
.
สำหรับนักเปียโนต้องซ้อมการนั่งลงไปบนเก้าอี้อย่างสง่างาม ไม่ใช่แบบมาถึงก็นั่งแปะลงไป รวมทั้งท่าการเอามือขึ้นวางบนเปียโนก่อนเล่น นักไวโอลินต้อง make sure ว่ายืนใน position ที่ถูกต้อง (play position) สำหรับงานนี้ครูเน้นว่าเวลายืนแล้วให้ไวโอลินขนานกับกำแพงหลังห้อง เพื่อให้เสียงที่ออกมาไปในทางเดียวกับเสียงของเปียโน และตำแหน่งในการยืนของนักไวโอลินที่จะต้องสามารถสื่อสารกับ accom ได้ตลอดที่เล่นเพลง เพราะการเล่นกับ accom เป็นการสื่อสารกันของ 2 เครื่องดนตรี และก่อนการเล่นจะต้องรอให้พร้อมกันทั้งคู่และมีการให้ ‘คิว’ ซึ่งกันและกัน
.
ช่วงที่เล่นคือ การฝึกฝนที่ซ้อมกันมาอย่างนัก ในคลาสนี้ไม่ได้เน้นแก้เทคนิคในบทเพลงแต่เน้นการแสดง คนเล่นไวโอลินกับ accom ต้องสื่อสารกันตลอดเพลง และตอนจบก็ฝึกท่าจบ สำหรับไวโอลินท่าจบแต่ละเพลงก็ต่างกัน ถ้าเพลงยิ่งใหญ่จบอย่าง grand ก็เปิด bow (คันชัก) กว้าง เพลงที่จบเบา ๆ หวานก็เปิด bow เล็กน้อย สำหรับนักเปียโนก็จะมีท่าการเอามือลงจากเปียโน ที่สำคัญคือ ต้องให้คนดูรู้ว่าเราจบแล้วด้วย เมื่อเล่นจบก็โค้งอีกครั้ง (อย่าลืมโค้งให้ได้แบบตอนเริ่มแบบที่ซ้อมมา) และเดินลงจากเวที แบบที่เดินเข้ามา ไม่ใช่จบแล้ว เย้ ลืมทุกอย่าง การแสดงเราจะจบก็ต่อเมื่อคนดูไม่เห็นเราแล้วค่ะ
.
เป็นคลาส performance ที่มีประโยชน์มาก นี่เป็นเหตุผลนึงที่ต่ายไม่เล่น accom ให้ลูกเองตอนแข่ง (ไม่นับว่าเวลาเล่น accom ให้ลูกตัวเองจะตื่นเต้นกว่าปกติ กลัวทำลูกพัง) เพราะจะได้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์การขึ้นเวที ได้เข้า performance class (อารมณ์ประมาณ mini concert สำหรับลูก) และนำมาปรับใช้กับงานตัวเอง เวลาที่ต้อง present งานสำคัญ เราต้องเตรียมละเอียดเบอร์นี้ ไม่ใช่แค่ทำ powerpoint จบแล้วคือจบ ต้องทำ presentation ให้เสร็จล่วงหน้าเพื่อจะได้มีเวลา ซ้อม ซ้อม ซ้อม ให้มั่นใจแบบ 200% ก่อน present จริง
Comments