top of page
Search
  • Writer's pictureCoachTai Musicparent

Ep.328 การเรียนดนตรีด้วย Suzuki Method


จาก Ep ที่แล้ว ต่ายเขียนเล่าเรื่องพาลูกไป string camp มา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนการสอนแบบ Suzuki วันนี้อยากจะมาเล่าถึงการเรียนระบบนี้ให้ฟัง และเล่าถึงความเหมือนและต่างจากระบบการเรียนดนตรีที่ต่ายเคยเรียนมา

.

Suzuki method นี้คิดค้นโดย Suzuki Shinichi (1898-1998) Suzuki เกิดและเติบโตในโรงงานทำไวโอลินซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ดอนเด็กไม่ได้เรียนคนตรี แต่ฝึกไวโอลินเองตอนเป็นวัยรุ่นแล้วโดยใช้วิธีสังเกตท่าทางการจับไวโอลินจากปกเทปและฝึกการทำให้เกิดเสียงด้วยตนเอง จากนั้นได้ไปเรียนต่อทางด้านไวโอลินที่เยอรมัน และได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนไวโอลินในมหาวิทยาลัย และพบว่าการเรียนไวโอลินในญี่ปุ่นในสมัยนั้นเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง การแก้ในคนที่เรียนไวโอลินมานานแล้วยาก จึงสนใจที่จะเริ่มฝึกพื้นฐานให้กับเด็กเล็กที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน

.

การเรียนดนตรีแบบ Suzuki เป็น mother tongue approach คือ เลียนแบบวิธีที่เด็กหัดพูด เด็กจะหัดพูดจากการฟังและพยายามเลียนเสียง ซึ่งเด็กทุกคนจะพูดได้โดยยังอ่านหนังสือไม่ออก ดังนั้นเด็กที่เรียนด้วยวิธีนี้จะหัดเล่นโดยยังไม่อ่านโน้ต

.

หลักสำคัญของการเรียนดนตรีวิธีนี้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะเปิดเพลงไวโอลินที่เด็กกำลังจะเรียนให้เด็กฟัง โดยให้ฟังเรื่อย ๆ ฟังเป็น background music ไปก็ได้ ไม่ต้องตั้งใจฟัง เปิดไว้ในบ้าน ฟังตอนนั่งรถ เพื่อให้เด็จดจำเสียงและสามารถเลียนเสียงได้ ควบคู่ไปกับการที่คุณแม่จะต้องมาเรียนไวโอลินเองก่อน ฝึกจับไวโอลินฝึกยืนให้ถูกต้องจนสามารถสีไวโอลินเพลง Twinkle ได้ (เพลงแรกที่เด็กที่เรียนหลักสูตร Suzuki เรียน) จึงจะให้ลูกมาเรียน เพื่อที่กลับไปที่บ้านคุณแม่จะได้ช่วยลูกซ้อมดนตรีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการที่คุณแม่เล่นไวโอลินเองก็จะทำให้เด็กอยากเลียนแบบคุณแม่ แต่สมัยนี้ไม่ถึงกับต้องให้คุณแม่สีไวโอลินได้นะคะ แต่คุณแม่ก็ต้องเข้าไปนั่งเรียนกับลูกเพื่อดูว่าครูสอนอะไร จะได้กลับไปสอนลูกที่บ้านถูก

.

3 คนที่มีความสำคัญกับการเรียนวิธีนี้ คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าไปเรียนกับลูกดูว่าลูกเรียนอะไรบ้าง ถ่ายรูป ถ่าย clip ว่าเล่นยังไงให้ถูก รวมทั้งต้องจดการบ้านด้วยว่าลูกต้องกลับไปซ้อมอะไรบ้าง พอกลับบ้านก็ต้องช่วยดูลูกซ้อมเปรียบเสมือนเป็นครูที่บ้าน ซึ่งต่างกับตอนที่ต่ายเริ่มเรียนเปียโน ตลอดเวลาที่เรียนก็จะอยู่กับครูสองคนในห้อง แล้วครูก็จะคุยกับแม่นิดหน่อยตอนหมดชั่วโมงว่าการบ้านมีอะไรบ้าง ควรซ้อมตรงไหนเป็นพิเศษ แล้วตอนกลับมาซ้อมที่บ้านก็ซ้อมเองไม่ได้มีคุณแม่มาซ้อมด้วย

.

การเรียนจะมีทั้งเรียนเดี่ยว มี group class เดือนละครั้ง และมี concert ทุก ๆ 3 เดือน (ทุกคนควรเข้าเรียนให้ครบทุกแบบนะคะ) การเรียน group class และ concert จะช่วยให้เด็ก ๆ ต้องทบทวนเพลงที่เรียนไปแล้ว เพราะจะต้องเล่นเกือบทุกเพลงที่เรียนมาแล้ว ย้อนกลับไปถึงเพลงแรกที่เรียน เด็ก Suzuki ตัวเล็ก ๆ ยืนเล่น concert กันแบบไม่ดูโน้ตได้เป็นสิบ ๆ เพลงเลยค่ะ ความจำดีจริง ๆ และปีละครั้งก็จะมีค่ายไวโอลินอย่างที่เล่าไปใน Ep ที่แล้วค่ะ

.

จากประสบการณ์ของตัวเองตอนที่ไปเรียนเป็นครู piano ด้วยวิธี Suzuki เราต้องหัด basic ใหม่หมดเลยค่ะ ตั้งแต่จะนั่งยังไง หย่อนตัวลงเก้าอี้ท่าไหน การวางมือ รูปมือ การใช้นิ้วแบบไหนให้เหมาะกับแต่ละเพลง etc ต้องบอกเลยค่ะ ตอนตัวเองเริ่มเรียน piano ไม่เคยได้รับการสอนละเอียดขนาดนี้เลยค่ะ สำหรับลูกตอนเริ่มเรียนยังไม่ได้จับ violin ของจริงเลยนะคะ ต้องหัดถือ violin โฟม ให้ถูกท่าอยู่ 2-3 สัปดาห์ กว่าจะได้จับ violin ของจริง

.

เด็ก Suzuki เล่นดนตรีได้ก่อนอ่านโน้ตได้ค่ะ เด็กบางคนอาจจะไม่พยายามอ่านโน้ต ซึ่งแน่นอนเลยว่าถ้าจะเรียน advance ขึ้นไป ต้องอ่านโน้ตค่ะ ตรงนี้ครู Suzuki จะให้เด็กเริ่มอ่านโน้ตในช่วงวัยที่เหมาะกับการหัดอ่าน คือ 6-7 ขวบค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยลูกฝึก sight reading ค่ะ

.

สำหรับการเรียนระบบนี้มีคนพูดถึงว่าเป็นการฝึกเลียนเสียง โดยที่ไม่ได้เล่นออกมาจากการตีความเอง ซึ่งเรื่องนี้จริงสำหรับในช่วงแรก เด็กฝึกเล่นดนตรีจากการเลียนเสียงที่ได้ยิน เหมือนตอนที่เด็กหัดพูด แต่เมื่อโตขึ้นเด็กก็พัฒนาสำเนียงการเล่นหรือสำเนียงการพูดของตัวเอง

.

ระบบนี้อาจจะไม่ได้สนับสนุนให้เด็กแข่งขัน เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพราเด็กแต่ละคนก็มี pace ของตัวเอง เราจะเปรียบเทียบเด็กกับตัวเองเมื่อวาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเดือนที่แล้วว่าพัฒนาไปขนาดไหน

.

Suzuki ยังเชื่อว่าเด็กทุกคนจะสามารถฝึกและเล่นดนตรีได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดนตรีเป็นภาษาสากลที่จะช่วยสร้างสันติภาพ ซึ่งต่ายก็เห็นด้วยที่ในค่ายไวโอลินมีเด็กไทย เด็กจีน เด็กฝรั่ง พูดกันรู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่ง แต่พอถึงเวลาเล่นดนตรีก็เล่นรวมกันได้อย่างไพเราะ ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ไม่ต้องพูดกันรู้เรื่องแต่ก็เล่นดนตรีด้วยกันได้ค่ะ

.

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนด้วยระบบ Suzuki สามารถอ่านได้จากหนังสือ Nurtured by Love แต่งโดย Suzuki และสามารถ search สารคดีชื่อเดียวกับหนังสือได้ใน YouTube ค่ะ

Comments


bottom of page