top of page
Search
Writer's pictureCoachTai Musicparent

Ep.292 Privacy ของลูกและของเรา


คุณพ่อคุณแม่โพสต์รูปลูกลงในสื่อ social บ่อยไหมคะ ลูกเราน่ารัก เราก็อยากแชร์ความน่ารักให้เพื่อน ๆ เราได้เห็นใช่ไหมคะ พอดีได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นแล้วลูกก็เริ่มบ่นว่าไม่อยากให้พ่อแม่แชร์บางรูป หรือรูปไหนที่จะแชร์ขอให้เค้าดูก่อนว่าเค้าโอเคไหม ก็เลยกลับมาคิดว่า จะมีรูปไหนของลูกบ้างไหมนะ ที่เราแชร์ไปแล้วพอลูกโตแล้วเค้ามาเห็นแล้วเค้าไม่โอเค

.

อยากชวนคิดว่าลูกก็มีสิทธิ์ที่จะไม่โอเคกับสิ่งที่เราแชร์เกี่ยวกับเค้าใน social เหมือนกันค่ะ ยิ่งถ้ามองว่าการแชร์ผ่าน social เป็นการแชร์ที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ แม้ว่าเราจะลบรูปหรือข้อความไปแล้ว เพราะเราไม่รู้เลยว่ามีคนแชร์ต่อไปแล้วหรือแคปหน้าจอไว้หรือยัง

.

ช่วงปีกว่า ๆ มานี้ต่ายช่วยหลาย ๆ องค์กรเตรียมความพร้อมสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ค่ะ จากที่เป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในการให้ข้อมูลและการแชร์ในสื่อ social อยู่แล้วก็ยิ่งระมัดระวังมากขึ้นค่ะ ยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลสำคัญมากค่ะ อยากคุยเรื่องกฎหมายใหม่นี้ในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับเราในฐานะพ่อแม่ค่ะ

.

อันดับแรกคือ ข้อมูลส่วนบุคคลคือ ข้อมูลที่ระบุตัวตนของเราได้ เช่น ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน หรือชุดของข้อมูลที่ทำให้ระบุตัวตนได้ เช่น เด็กผู้หญิงที่เรียนโรงเรียน x และเกิดวันที่ xx อาจจะมีคนเดียวทำให้ระบุตัวตนได้ ข้อมูลอีกประเภท คือ ข้อมูลอ่อนไหว เป็นข้อมูลที่อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ เช่น ข้อมูลสุขภาพ ศาสนา เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ สำหรับการใช้ข้อมูลอ่อนไหวและข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ทุกกรณีต้องมีการขอ consent (ความยินยอม)

.

ดังนั้นถ้าลูกเราไปทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วเราอยากจะแชร์รูปลูกเราซึ่งในรูปนั้นมีเด็กคนอื่นอยู่ด้วย เราควรได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กคนนั้นก่อน หรือเราควรปิด/เบลอหน้าเด็กคนอื่นค่ะ

.

การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นไปในลักษณะที่เราคาดการณ์ได้ว่าจะเอาข้อมูลเราไปใช้ทำอะไร เช่น ถ้าเราสั่งซื้อของออนไลน์ แล้วบริษัทที่จะส่งของให้เราขอ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร email อันนี้เราคาดการณ์ได้ แต่ถ้าเค้าอยากได้ข้อมูลว่า เราแต่งงานหรือยัง มีลูกกี่คน อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งของ ถ้าเค้าอยากได้ข้อมูลต้องขอ consent ค่ะ

.

สำหรับสิทธิ์สำหรับเจ้าของข้อมูล เราสามารถขอ ลบ ห้ามไม่ให้ใช้ข้อมูลได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่ง consent ที่เคยให้ไปแล้วก็สามารถขอถอน consent ได้ค่ะ ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลถ้าไม่มีเหตุอันควรก็ต้องให้เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิ์ค่ะ

.

จากการทำงานตรงนี้ อยากจะบอกว่าของฟรีไม่มีในโลกแน่นอนค่ะ บางครั้งเรา shopping online แล้วมีคูปองลดราคามาให้ โดยให้เรากรอก email เค้าได้ข้อมูล email เราไปแล้วค่ะ หรือเราเองโดนเก็บข้อมูลโดยไม่ทันระวัง เช่น การ accept cookies ในการเข้า website หรือบางครั้งเราเดินผ่านกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่าง ๆ ค่ะ

.

ต่ายบอกลูกค่ะว่าก่อนจะ click อะไรใน internet โดยเฉพาะ pop up ให้อ่านก่อนทุกครั้ง ถ้าไม่แน่ใจให้แม่ถามพ่อแม่ก่อน ถ้าลูกยังเล็กสอนไว้ว่าถ้ามีอะไรโผล่มาแล้วมีปุ่มให้ click ห้าม click เด็ดขาดให้เรียกพ่อหรือแม่มาดูก่อน การ click อาจจะทำให้เราให้ข้อมูลไปโดยไม่รู้ตัว หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้นอาจจะเจอ hacker ที่พยายามจะเข้ามาเอาข้อมูลสำคัญ อย่างเช่น ข้อมูลธนาคาร อาจจะเจอโจรเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรืออาจเจอไวรัสค่ะ

.

สิ่งสำคัญที่สุดที่บอกลูกไว้คือ ห้ามให้ password คนอื่นเด็ดขาด เป็นเพื่อนก็ให้ไม่ได้ ถ้ามีคนมาขอ password ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นคนไม่ดีและให้เรียกพ่อแม่ค่ะ

.

ลูกเราอยู่ในโลกที่เกิดมาก็มีอินเตอร์เน็ตแล้วค่ะ ลูกอาจจะนึกไม่ออกว่าตอนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตเราอยู่กันอย่างไร สิ่งที่เราช่วยลูกได้คือสอนให้เค้ารู้จักภัยที่จะมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ตรวมทั้งวิธีป้องกันตัวเองและถ้าเกิดโดนโจมตีแล้วต้องทำอย่างไรค่ะ

Comments


bottom of page