ต่ายมีความเชื่อเสมอว่าหนังสือเล่มที่ใช่ต้องมาในเวลาที่ใช่ และอีกความเชื่อคือ หลายครั้งหนังสือเป็นเพื่อนที่ดีของเราช่วยผลักดันให้เรามีแรงใจ หรือช่วยปลอบประโลมเรา หนังสือเล่มนี้เป็นทั้งสองอย่างสำหรับต่ายค่ะ
.
ต่ายซื้อหนังสือเล่มนี้มาเหมือนมี calling ซื้อเพราะเห็นมันบ่อยมาก จนวันนึงก็ซื้อมาโดยที่ไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังสือเกี่ยวกับอะไร แล้วหนังสือก็นอนสงบนิ่งอยู่ในบ้านนานมาก วันนี้ได้หยิบมาอ่านก็อ่านรวดเดียวใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงอ่านจนจบเล่ม อ่านไปร้องไห้ไปหลายตอน
.
อ่านด้วนควมรู้สึกของคนเป็นแม่ ถ้าได้อ่านตอนที่ยังไม่เป็นแม่คิดว่าสิ่งที่ได้จากหนังสือต้องไม่เหมือนกันแน่นอน เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายที่เป็นโรคอเล็กซิไธเมีย (Alexithymia) ซึ่งเป็นโรคที่คนที่เป็นโรคนี้จะไม่มีความรู้สึก เค้าจะไม่เค้าใจว่าอารมณ์รัก โกรธ หรือกลัวเป็นอย่างไร เราอาจจะจินตนาการยากมากว่าอาการแบบนี้เป็นอย่างไร เพราะอารมณ์เป็นเหมือนสัญชาตญาณที่เราทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด ไม่ต้องสอนว่าถ้าเราดีใจหรือโกรธควรจะแสดงออกอย่างไร
.
ตัวละครหลักเป็นเด็กผู้ชายซึ่งเป็นโรคนี้ เค้าถูกมองว่าเป็นคนประหลาด เพราะเค้าไม่แสดงออกทางด้านอารมณ์ เห็นคนถูกซ้อมก็มีสีหน้าเรียบเฉย ตัวเองกำลังจะโดนต่อยก็ไม่แสดงอาการกลัวออกมา คุณแม่ต้องสอนให้เค้าท่องว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ต้องแสดงออกอย่างไรเพื่อให้เหมือนคนปกติ
.
ถ้าเล่าแบบไม่สปอยล์เพราะเขียนอยู่ที่ปกหลังอยู่แล้วว่าเค้าเห็นยายถูกฆ่าตายและแม่ถูกทำร้ายจนไม่ฟื้นแต่เค้าก็ไม่ได้แสดงออก เรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินต่อจากเหตุการณ์ตรงนี้ที่เค้าต้องใช้ชีวิตเองเพียงลำพัง การที่เข้าไปเรียนมัธยมปลายแห่งใหม่ ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดและถูกบูลลี่ มีเหตุดราม่าเกิดขึ้นอีก ในขณะที่เค้าก็ค่อย ๆ เริ่มรู้จักอารมณ์หนังสือจบไปแบบไม่ได้คาดคิดแต่ด็ไม่ถึงกับหักมุม
.
ถ้าจะสะท้อนสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ออกมา สิ่งแรกคือพลังรักของแม่ยิ่งใหญ่มากค่ะ ยิ่งใหญ่จนสามารถทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ นอกจากนั้นก็ตอกย้ำกับต่ายว่าทุกคนจะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองด้วยการตัดสินใจภายใต้ทรัพยากรที่เค้ามี ณ ขณะนั้น เด็กเหลือขอไม่ใช่คนไม่ดีมาตั้งแต่เกิด มันมีเหตุปัจจัยทำให้เค้าเป็นแบบนั้น หลายครั้งก็มาจากการเลี้ยงดูซึ่งเราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยไม่ให้มีเด็กเหลือขอได้แน่นอนค่ะถ้าเราตั้งใจ
.
.
ส่วนชื่อเรื่อง อัลมอนด์ มาจากความผิดปกติของโรคนี้เกิดจากอมิกกาลาซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ ในสมองมีรูปร่างคล้ายอัลมอนด์ค่ะ
Comentários