ต่ายอ่านหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีมาแล้วค่ะ เป็นหนังสือที่ให้แนวคิดใหม่ ๆ อยากให้วัยรุ่นได้อ่าน ช่วงนั้นซื้อให้ลูกศิษย์เป็นของขวัญวันรับปริญญาทุกคนเลยค่ะ
.
ได้กลับมาอ่านอีกครั้ง เพราะฟัง 5 minutes podcast ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ซึ่งคุณรวิศพูดถึงหนังสือเล่มนี้มากกว่า 10 ตอนต่อกัน
.
ผู้เขียน คือ อาจารย์คิม รันโด เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโซล อาจารย์เป็นด็อกเตอร์ซึ่งมีงานวิจัยออกมาหลายเล่ม และได้ใกล้ชิดกับนักศึกษามาหลายรุ่น อาจารย์ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ลูกชายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย
.
แม้หนังสือจะเป็น context ของประเทศเกาหลี ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนเครื่องชี้ชะตา เด็กมัธยมจะเรียนพิเศษกันถึงสี่ห้าทุ่มเกือบทุกวัน แต่ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจค่ะ
.
อันดับแรก มหาวิทยาลัยเป็นจุดออกตัวไม่ใช่เส้นชัย การเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ได้แปลว่าเราจะประสบผลสำเร็จในชีวิต ไม่ได้การันตีว่าเราจะได้ทำงานในบริษัทดี ๆ
.
การตัดใจทำได้ยากกว่าการพยายามต่อ การตัดใจไม่ใช่เรื่องขี้ขลาด อาจารย์คิมพูดถึงนักเรียนที่สอบไม่ติด และนักศึกษาที่จะซิ่ว เราจะพยายามต่อไปอีกนานแค่ไหน บางคนพยายามต่ออีกหลายปีก็ยังสอบเข้าไม่ได้ อาจารย์เองก็มีประสบการณ์สอบเนติบัณฑิตไม่ผ่าน จึงตัดใจไปเรียนต่อบริหารธุรกิจและพบว่าเป็นสิ่งที่ชอบมากกว่า
.
ถ้าไม่อิจฉาเลย คือพ่ายแพ้ หลายครั้งเราได้รับคำสอนว่าอย่าอิจฉาคนอื่น แต่อาจารย์บอกว่าการอิจฉาจะช่วยให้เรามีแรงผลักดันให้เรามุ่งหน้าไปต่อ
.
สำหรับคนที่เพิ่งทำงานอาจารย์บอกว่าอย่าเพิ่งรีบบริหารเงิน หลายคนจะรีบเก็บเงินโดยให้ตัดบัญชีเท่า ๆ กันทุกเดือน ถ้าเราทำแบบนี้เราจะไปโฟกัสกับการหาเงินมากกว่าที่จะไปพัฒนาศักยภาพของเรา ช่วงเริ่มต้นของอาชีพเราควรโฟกัสไปที่การเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเรา
.
อาจารย์พูดถึงกฎ 10,000 ชั่วโมงในหนังสือ Outliers ของ Malcolm Gladwell เป็นการฝึกฝนกว่า 10 ปี เพื่อที่จะมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในด้านหนึ่ง อาจารย์ชวนให้เราลงมือทำตามความฝันเล็ก ๆ โดยการลงมือทำวันละ 1 ชั่วโมง ใน 1 ปีเราจะได้ฝึกฝนไป 365 ชั่วโมงแล้ว ปาฏิหาริย์ คือ สิ่งที่สำเร็จได้ทีละเล็กทีละน้อย
.
คุณคือเจ้าของชีวิตที่แท้จริง คุณต้องตัดสินทุกอย่างด้วยตัวเอง จงค้นหาพลังที่ซ่อนอยู่ จงสร้างโลกใหม่ด้วยสองมือของคุณเอง อย่าให้กระแสสังคมพาคุณ
.
อยากให้วัยรุ่นทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ นี่คงเป็น ‘I wish I knew when I was 20’ ของ Tina Seelig version Asia ค่ะ
Comments